วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การใช้อริยสัจ 4 สำหรับฆราวาส


 
 
 
 
การใช้อริยสัจ 4 สำหรับฆราวาส:
................................................
1.อริยสัจ 4 คือ สูตร หรือ ข้อกำหนด หรือ แนวทางซึ่งเป็นความจริงอันประเสริฐที่จะใช้จัดการกับสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายเรียกว่า "ความทุกข์" ได้แบบเบ็ดเสร็จ

2.ถ้าเป็นความทุกข์ในมิติแห่งจิตวิญญาณของพวกเธอ ก็เห็นจะเป็นเรื่องของการมีสังสารวัฏ หรือ การเวียนว่ายตายเกิดอันมิรู้สิ้นสุดหลุดพ้นกันได้เมื่อไหร่ ต่อกรณีนี้พระพุทธองค์ได้ทรสอนสั่งพวกเธอเอาไว้นานแล้ว

3.แต่ถ้าเป็นความทุกข์ในมิติโลกทางกายภาพ ก็คือ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นฆราวาสโดยเลือกจะมีครอบครัว หรือเลือกดำเนินชีวิตในบทบาทของนักสู้เพื่อการรู้แจ้ง มักจะหนีไม่พ้นกับการต้องเผชิญสิ่งที่ตนเรียกว่าทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น

4.สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ก็คือ สิ่งที่เธอรู้สึกว่าทนได้ยาก ทนไม่ไหว ทนไม่ได้ จนอยากเอามันออกไปให้พ้นจากตัวเธอ หรือไม่ก็อยากจะเอาตัวเธอเองออกไปให้พ้นจากสิ่งนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่พวกเธอจะใช้คำรวมสั้นๆว่า "ปัญหา" นั่นเอง

หลักการใช้อริยสัจ 4 เพื่อจัดการกับปัญหาในชีวิต:
.......................................................................
1.เมื่อเกิดทุกข์ เธอต้องสำนึกรู้ทันทีว่า เธอได้พบเผชิญกับปัญหาเข้าให้แล้ว หน้าที่ของเธอก็คือ จักต้องเรียนรู้ด้วยการวิเคราะห์ให้ได้ ค้นให้พบว่า "ปัญหานั้น" คือ อะไรกันแน่ ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ว่า "ทุกข์" ของตนคืออะไรตามหลักแห่งอริยสัจนั่นเอง

2.เมื่อค้นพบว่าปัญหาอันเป็นที่มาแห่งทุกข์ของเธอ คือ อะไรแน่แล้ว หน้าที่ของเธอก็จักต้องทำการสืบค้นต่อไปว่า ต้นตอหรือบ่อเกิดแห่งปัญหาที่แท้จริงที่เธอพบนั้นมัน คือ อะไรแน่

นี่ก็หมายถึง การเรียนรู้สาเหตุแห่งปัญหาอันนำมาซึ่งความทุกข์ที่เธอเผชิญอยู่ ที่หลักแห่งอริยสัจ หมายถึง "สมุทัย" คือ การเรียนรู้ถึงสาเหตุแห่งการเกิดทุกข์นั้นนั่นเอง

3.เมื่อค้นพบว่า ตัวต้นต่อบ่อเกิดแห่งปัญหาที่นำมาซึ่งความทุกข์ทั้งหลายของเธอนั้น มันคืออะไรแน่แล้ว เธอก็ต้องเรียนรู้ต่อไปว่าจะแก้ปัญหาตรงสาเหตุแห่งปัญหานั้น ด้วยวิธีการใดได้บ้าง คิดหาวิธีให้ได้หลายๆวิธี แล้วก็ตัดสินใจเลือกเอาวิธีที่ดีที่สุดที่เธอพร้อมและสามารถจะทำได้จริงเพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหานั้นต่อไป

นี่ก็หมายถึง การเรียนรู้ที่จะค้นหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดและมั่นใจว่านำมาใช้แก้ไขปัญหาอันเป็นที่มาแห่งทุกข์ของเธอได้แน่ๆ ด้วยวิธีการตัดสินใจเลือกที่ฉลาดที่สุด ซึ่งหลักแห่งอริยสัจ หมายถึง "นิโรธ" อันหมายถึง ความดับทุกข์นั้นได้สำเร็จโดยแท้

4.เมื่อเธอจัดการกับปัญหาดังกล่าวที่เผชิญอยู่เป็นผลสำเร็จ นั่นเท่ากับว่า เธอจัดการดับทุกข์ทั้งกายและใจของเธอได้แล้ว หน้าที่ของเธอยังจักต้องเรียนรู้ต่อไปให้สุดทางอีกด้วยว่า....เมื่อเธอมีประสบการณ์แห่งทุกข์นั้นแล้ว เธอจะป้องกันตนเองอย่างไรเพื่อมิให้เกิดทุกข์แบบเดียวกันนี้อีกในวันข้างหน้า....

นี่คือ ปัญหาเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา ใช่หรือไม่ล่ะ?

ถ้าเธอใช้ประสบการณ์นี้เป็นบทเรียน แล้วเตรียมตัวเตรียมใจป้องกันไว้มิให้มันเกิดปัญหาที่จะนำพาความทุกข์มาให้เธออีกในวันข้างหน้าได้นั้น ตามหลักแห่งอริยสัจ 4 ก็หมายถึง "มรรค" นั่นคือ การรู้วิถีทางดำเนินชีวิตที่ชาญฉลาด (Smart) โดยไม่ยอมให้เกิดความผิดพลาดในการดำเนินชีวิตตามแบบเดิมๆอีกตลอดไป

5.ตั้งแต่โตเป็นผู้ใหญ่จนถึงวัยชรา ในแต่ละวันถ้าเธอใช้หลักแห่งอริยสัจ 4 ที่เรากล่าวมาทั้งหมดพอสังเขปนี้ จัดการกับอุปสรรคปัญหาใดๆในชีวิต เธอก็จะสามารถผ่านบททดสอบและได้รับบทเรียนกันอย่างมากมายมหาศาล ขณะที่จิตปัญญาของเธอก็จะทรงพลังอำนาจเหลือคณานับ มิมีงมงาย มิใช่แก่แล้วแก่เลย ตามอายุขัยที่ผ่านมาเป็นแน่แท้....

หมายเหตุ:

สำหรับคำขยายของ "มรรค ที่มีองค์ประกอบ 8 ประการ" นั้น
เป็นคำเฉลยที่พระพุทธองค์ทรงรวบรวมเอาไว้ให้พวกเธอได้ระวังตนกันให้มากๆว่า มันล้วนเป็นที่มาแห่งการเกิดทุกข์กาย ทุกข์ใจ ในชีวิตประจำวันด้วยกันทั้งสิ้น

พระพุทธองค์ ทรงหมายความว่า
ถ้าเธอประพฤติมิชอบใน 8 กรณีนี้
เธอย่อมเกิดทุกข์แน่ๆ ทั้งกายและใจ กล่าวคือ....

1.การเข้าใจผิด
2.การคิดผิด
3.การพูดผิด
4.การทำผิด
5.การยังชีพผิด
6.การเกียจคร้าน
7.การขาดสติ
8.การขาดสมาธิ

รวมแล้วพวกเธอกล่าวขานกันว่า "มรรค 8" นั่นแหละนะ....

พระศาสดาท่านทรงตรัสสอนเอาไว้ดีแล้ว
หากว่าเธอมีธรรมะดีๆแต่ไม่เข้าใจ
หรือว่าเข้าใจไปเสียผิดๆ ก็หาประโยชน์อันใดมิได้ทั้งนั้น

<3 span=""> คราวนี้หยิบฉวยเอา "อริยสัจ 4"
มาใช้ในชีวิตกันอย่างเป็นรูปธรรมได้รึยังล่ะ
ท่านนักเรียนผู้อุทิศตนเป็นฆราวาสแห่งเราทั้งหลาย.....

ป.วิสุทธิปัญญา
ชมรมจิตจักรวาลศึกษาแห่งโลก UCSA
17-07-2014