วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

จงอย่าใจเบา







#จงอย่าใจเบา

คำว่า "ใจเบา" ในที่นี้เราหมายถึง
คนที่มีจริตหรือนิสัยทางจิต คือ

1.จิตว่องไวต่อสิ่งเร้าที่มากระทบอายตนะ
2.จิตจะรับรู้สิ่งเร้านั้น
แล้วสั่นสะเทือนตอบสนองทันที

3.การตอบสนองของจิต
คือ การรับรู้แล้วรับเอา

4.เมื่อจิตเกิดการรับเอาสิ่งเร้านั้นแล้ว
ก็จะสนองตอบสิ่งเร้าตาม "การรับเอา" นั้น

อาการรับเอาของจิต
ในเบื้องต้น มีกระบวนการที่ควรรู้ก็คือ

เมื่อจิต "รับเอา" ก็จะสั่นสะเทือน
จนเกิดเป็น #ความรู้สึก
ที่มีต่อสิ่งเร้านั้น

แล้วก็จะแสดงออกหรือกระทำตอบสนอง
ไปตามความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้นทันที
ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็จะมีอยู่ด้วยกัน
3 ลักษณะ ดังนี้

1.*การรับเอาลักษณะแรก
คือ "ได้ความรู้สึก"
หมายถึง มีความรู้สึกพึงพอใจ ชอบใจ
หรือถูกอกถูกใจในสิ่งเร้านั้น

แล้วแสดงอาการออกมาทางกายหรือวาจา
เพื่อทำการตอบสนองสิ่งเร้านั้นทันที
โดยไม่ต้องเสียเวลาใช้สติปัญญาคิดพิจารณา
ว่าพฤติกรรมตอบสนองที่ตนแสดงออกมานั้น
มันควรไม่ควร มันเป็นบุญหรือบาป
มันถูกต้องเหมาะสมดีงามแน่แล้วหรือไม่

2.*การรับเอาลักษณะที่สอง
คือ "เสียความรู้สึก"
หมายถึง มีความรู้สึกไม่พึงพอใจ ไม่ชอบใจ
ไม่ถูกอกไม่ถูกใจในสิ่งเร้านั้น

แล้วแสดงอาการออกมาทางกายหรือวาจา
เพื่อทำการตอบสนองด้านลบต่อสิ่งเร้านั้นทันที
โดยไม่ต้องเสียเวลาใช้สติปัญญาไตร่ตรอง
ว่าพฤติกรรมตอบสนองที่ตนแสดงออกมานั้น
มันควรไม่ควร มันเป็นบุญหรือเป็นบาป
มันถูกต้องเหมาะสมดีงามแน่แล้วหรือไม่

3.*การรับเอาลักษณะที่สาม
คือ "ว่างไปจากความรู้สึก"
หมายถึง จิตไม่สั่นสะเทือนเป็นการรู้สึกใดๆ
ไปตามสิ่งเร้าที่อายตนะภายนอก
เกิดการสัมผัสรู้ดูเห็นอยู่ในขณะนั้นเลย
อันหมายถึง "จิตรับรู้แต่ไม่รับเอา" นั่นเอง

คนที่สามารถ "รับรู้แล้วไม่รับเอา" ได้เช่นนี้
คือคนที่ "ไม่ใจเบา" นั่นแหละ

คนที่ไม่ใจเบานี่เองคือคนที่
สามารถแทรกแซงกระบวนการของขันธ์ 5
เพื่อยกระดับจิตหยาบให้สั่นสะเทือน
เป็นหนึ่งเดียวกันกับจิตวิญญาณของตนได้
อันหมายถึง "#หมุนธรรมจักร" สำเร็จนั่นเอง

นอกจากนั้น
เราเคยกล่าวความจริงต่อท่านทั้งหลายแล้วว่า
คุณสมบัติที่สำคัญของ "จิตมนุษย์" ก็คือ
มันจะสามารถสั่นสะเทือนได้ทีละอาการเท่านั้น
เช่น ถ้ามันกำลังสั่นสะเทือน
จนเกิดเป็นความรู้สึกแบบใดแบบหนึ่งอยู่
จิตของท่านก็จะไม่ว่างที่จะสั่นแบบอื่นแทรกได้

ด้วยเหตุนี้เอง
ในขณะที่จิตท่านกำลังเกิดความรู้สึกอยู่
มันจึงไม่มีที่ว่างให้กับการใช้ปัญญาได้
ท่านจึงมักแสดงออกหรือกระทำผิดพลาด
ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นอยู่เสมอ

พฤติกรรมทางความรู้สึกนี้
เราจะเรียกว่า Sensitive Behaviours

พี่น้องที่รักแห่งเราทั้งหลาย
เราจะกล่าวความจริงไว้อีกอย่างหนึ่งว่า
หน้าที่หลักของท่านทั้งหลายก็คือ
#รับรู้แล้วต้องไม่รับเอา
คือ ต้องว่างจากความรู้สึก

แต่ให้ #รับรู้แล้วต้องเรียนรู้
ในสิ่งที่รับรู้อยู่นั้นแทน
เพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
ซึ่งท่านจะเรียนรู้อะไรๆไม่ได้แน่
ถ้าจิตยังเกิดความรู้สึกอยู่
จิตยังไม่ว่างอยู่

นอกจากนั้น
หากเมื่อใดที่ท่านยอมให้จิตเกิดความรู้สึกขึ้น
จิตของท่านมันก็จะสั่นสะเทือนต่อไปอีก
จนเกิดเป็น "อารมณ์" ขึ้นมาแทน

ถ้ารู้สึกพึงพอใจก็จะเกิดอารมณ์ด้านบวก
ถ้ารู้สึกไม่พึงพอใจก็จะเกิดอารมณ์ด้านลบ
ซึ่งเราจะนำมากล่าวในโอกาสต่อไป

สำหรับคนใจเบานั้นจะมีลักษณะพิเศษ
ที่เห็นเด่นชัดคือจะอ่อนไหวง่ายเมื่อถูกเร้า
ผ่านตาที่มองเห็น ผ่านหูที่รับฟังหรือได้ยิน
โดยจะแสดงพฤติกรรมออกมาแบบไม่ยั้งคิด
ที่เรียกว่า "ขาดสติสัมปชัญญะ" นั่นแหละ

ถ้าเสียสมดุลเพราะถูกเร้าผ่านสองตา
ก็เรียกว่า "ตาเบา"

ถ้าเสียสมดุลเพราะถูกเร้าผ่านสองหู
ก็เรียกว่า "หูเบา"

แต่อันที่จริงตากับหูน่ะมิได้เกี่ยวด้วยเลย
แท้จริงแล้วที่เสียสมดุลไปนั้น
เหตุเพราะ #ใจเบา ต่างหากล่ะ

คนใจเบานี่แหละ
เป็นคนที่มีโครงสร้างทางจิตวิทยา
(Psychological Structure) อ่อนแอ

ซึ่งมนุษย์ส่วนใหญ่จะเป็นด้วยกันทั้งนั้น
จนยังผลให้ชีวิตประจำวัน
ขาดความผาสุกไปมาก

เพราะวันๆมัวแต่....
ขี้ใจน้อย ขี้แย ขี้อ้อน ขี้งอน
ขี้บ่น ขี้โวยวาย ขี้เบื่อ ขี้งก ขี้ระแวง
ขี้หวง ขี้หึง ขี้อิจฉา ขี้โม้ ขี้คุย
ขี้อวด ขี้โอ่ ขี้รำคาญ และ อื่นๆ

ด้วยเหตุนี้เอง
บุคคลทั่วไปเมื่อมาอยู่ร่วมกันมากๆ

ไม่ว่าจะเป็นสังคมเดียวกัน
เป็นทีมงานเดียวกัน
เป็นองค์กรเดียวกัน

จึงมีบรรยากาศไม่ค่อยจะรื่นรมย์
งานที่ทำร่วมกันก็มักไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ก็เพราะต่างก็เป็นคน "ใจเบา" ด้วยกันนั่นล่ะ

เราจึงสร้างกลยุทธ "ไซโคโชว์" ขึ้นมา
เพื่อใช้ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมมนุษย์
ที่มีจุดด้อย คือ "ใจเบา" เพราะไวต่อสิ่งเร้า
ให้กลายป็นคน "ว่างไปจากความรู้สึก"
ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งเร้าภายนอกง่ายๆ
ให้มีสติสัมปชัญญะพอที่จะเป็นตัวของตัวเอง
แล้วให้ฉลาดเรียนรู้ทุกสิ่งที่ตนได้เผชิญ
อย่างมีความสุข

กลยุทธที่เราสร้างขึ้นนี้
ใช้ฝึกอบรมพัฒนาจิตตปัญญาของคน
ให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆอย่างได้ผล
ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรพัฒนาพฤติกรรมแบบใด
ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรม
เพื่อพัฒนาใคร ในระดับใด
ก็สามารถแก้ไขปัญหา
จากการ "ใจเบา" ของคนได้ทั้งสิ้น

หากท่านเข้าใจในสิ่งที่เรากล่าวมาทั้งหมดนี้
ท่านจะรู้ได้เองว่า "การสอนให้รู้"
ด้วยวิธีบรรยายแบบที่ใช้ๆกันอยู่นั้นไม่ได้ผล
ซึ่งมันสู้ฝึกอบรมด้วยวิธีกระตุ้นที่ "จิตสามนึก"
ด้วยกระบวนการไซโคโชว์ไม่ได้

เอเมน สาธุ
ป.วิสุทธิปัญญา
2-4-2017

หมายเหตุ:
ขออนุโมทนาบุญที่จะช่วยกันแชร์ออกไป
เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้นี้เป็นธรรมวิทยาทาน
ไว้ ณ ที่นี้