วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

อยาก กับ ไม่อยาก










เราจะกล่าวความจริงต่อท่านทั้งหลายว่า

ความต้องการที่จะประสบผลสำเร็จ
หรือ "อยาก" จะประสบความสำเร็จนี้
เป็นอีกหนึ่ง "ความอยาก"
ที่สามารถจะเป็นจุดอ่อนของท่าน
ให้มารชักพาหลงทางได้อีกจุดหนึ่ง

ท่านทั้งหลายจักต้องรู้ว่า
ถ้าพิจารณาแต่คำตรงๆ
คือ "อยากสำเร็จ" หรือว่า "อยากชนะ"
ท่านก็อาจแลไม่เห็นข้อพิรุธของจิต

เพราะใครๆก็รู้ว่า
ความสำเร็จหรือชัยชนะนั้น
มันเป็นของต้องประสงค์ของคนส่วนใหญ่
ใครๆก็ปรารถนาด้วยกันทั้งสิ้น

เราจึงขอกล่าวความจริง
เพื่อขยายความต่อท่านทั้งหลายว่า

ในมิติโลกทางกายภาพนั้น
ทุกสรรพสิ่งทุกเรื่องราว
ล้วนมีให้มองให้พินิจพิจารณากัน
อย่างน้อย 2 ด้านที่ตรงข้ามกันเสมอ
เช่น ดีกับชั่ว ชนะกับแพ้
สำเร็จกับล้มเหลว เป็นต้น
รวมทั้ง "อยากกับไม่อยาก" ด้วย

กรณี "อยากสำเร็จ" ก็เช่นกัน
สิ่งตรงข้ามก็คือ "ไม่อยากล้มเหลว"
ความไม่อยากล้มเหลว
เสมอกับ "กลัวว่าจะไม่สำเร็จ" นั่นเอง

ท่านรู้หรือไม่ว่า ถ้าจิตของท่าน
สั่นสะเทือนเป็น "อยากสำเร็จ" หรืออยากชนะ
มันคือการสั่นสะเทือนทางด้านบวก

เมื่อจิตมีคุณสมบัติทางด้านบวกคือด้านดี
จิตก็ย่อมขับเคลื่อนกระบวนการคิดของสมอง
ไปทางด้านบวก คือ การคิดบวก
เมื่อจิตกับสมองสั่นสะเทือนร่วมกันด้านบวก
ท่านก็จะแสดงพฤติกรรมด้านบวกออกมา
เป็นกายกรรมหรือวจีกรรมที่พึงประสงค์ในที่สุด

ในทางกลับกันกับที่กล่าวมา
ถ้าหากว่าท่านมีจริตเป็นลบ
โดยเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายเป็นทุนอยู่แล้ว
ในเรื่อง "การอยากสำเร็จ" นี้
มันก็จะเปลี่ยนแปรไปเป็น "กลัวล้มเหลว"
หรือว่า "กลัวจะไม่สำเร็จ" แทน

ท่านรู้หรือไม่ว่า ถ้าจิตของท่าน
สั่นสะเทือนเป็น "กลัวจะล้มเหลว"
หรือว่า "กลัวจะไม่สำเร็จ"
มันคือการสั่นสะเทือนของจิตทางด้านลบ
ท่านก็จะแสดงพฤติกรรมด้านลบออกมา
เป็นกายกรรมหรือวจีกรรมที่ไม่เหมาะสม

พฤติกรรมทางกายที่ไม่เหมาะสม
มักอยู่ในรูปของ "วิชามาร" นั่นแหละ
เช่น เอาเปรียบ เบียดเบียน ฉ้อฉล ฯลฯ
ส่วนวจีกรรมที่ไม่้เหมาะสมนั้น
คงหนีไม่พ้น "การโกหก" ปลิ้นปล้อน
ตลบแตลง การพูดไม่ตรง ฯลฯ

พฤติกรรมด้านลบเหล่านี้
ล้วนมีสาเหตุมาจากความไม่อยาก
ที่แสดงออกมาจาก "ความกลัว" ทั้งสิ้น

ถ้าท่านแสดงพฤติกรรมด้านลบ
จากสภาวะจิตด้านลบเช่นนี้
เท่ากับว่าท่านได้กระทำผิดบาป
ต่อจิตวิญญาณของท่านเองแล้ว
มันจะถูกบันทึกรหัสเป็น "บุรพกรรม"
หรือที่ท่านรู้จักกัน
ในนามวิบากกรรมนั่นเอง

หากยังมีวิบากกรรมค้างคาให้ต้องแก้ไข
แล้วจะกลับบ้านในสภาวะนิพพาน
ได้อย่างไรกันล่ะ....

เอเมน สาธุ
ป.วิสุทธิปัญญา
10-2-2016

มารในตนเอง







พี่ๆน้องๆที่รักแห่งเราทั้งหลาย

เราจะขอยกตัวอย่าง "จุดอ่อน" ของท่าน
ที่สามารถจะตกเป็นทาสของมาร

โดยเฉพาะมารภายในจิตใจของท่านเอง
อันเป็นจุดอ่อนจุดหนึ่ง คือ
"ความอยากกับไม่อยาก"
มาให้ท่านได้เรียนรู้โดยทั่วกันว่า

1.ถ้าท่านสัมผัสรู้ดูเห็นสิ่งใดก็ตาม
แล้วสั่นสะเทือนทางจิตใจ
จนเกิดเป็น "ความรู้สึก" ขึ้นมาเมื่อไหร่

2.จิตท่านจะใช้ "ความรู้สึก"
ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนั้น
เป็นเงื่อนไขให้จิตเอง
เกิดการสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่องต่อไป
จนเกิดเป็น "ความอยาก" ขึ้นมาได้

3.ตัวความรู้สึก ในข้อ 1.นั้น
จิตมักอยู่ในอาการที่เรียกว่า

ชอบ กับ ไม่ชอบ
พอใจ กับ ไม่พอใจ
ยืนดี กับ ไม่ยินดี
เร้าใจ กับ ไม่เร้าใจ
......เป็นต้น

ความรู้สึกเหล่านี้นี่แหละ
ที่จะเป็นเงื่อนไขของจิตให้สั่นสะเทือนต่อ

จนเกิดเป็น "อยาก" เพราะชอบ
เกิดเป็น "ไม่อยาก" เพราะไม่ชอบ

เกิดเป็น "อยาก" เพราะพอใจ
เกิดเป็น "ไม่อยาก" เพราะไม่พอใจ

เกิดเป็น "อยาก" เพราะยินดี
เกิดเป็น "ไม่อยาก" เพราะไม่ยินดี

เกิดเป็น "อยาก" เพราะเร้าใจ
เกิดเป็น "ไม่อยาก" เพราะไม่เร้าใจ
........เป็นต้น

4.ถ้าจะเข้าใจง่ายขึ้นสำหรับท่าน
ที่มีปูมหลังทางธรรมะ
เราก็จะกล่าวง่ายๆให้ฟังว่า

"ความรู้สึก" ก็คือ "กิเลส" นี่แหละ
มันจะเป็นบ่อเกิดแห่ง "ตัณหา"
ซึ่งเป็น "ความอยาก-ไม่อยาก" ของจิต
เสมือนเป็นฝาแฝดกันเลยทีเดียว

กล่าวคือ......
ถ้าจิตท่านเกิดกิเลสขึ้นมาเมื่อไหร่
อาการของจิตที่เรียกว่า "ตัณหา"
มันก็จะปรากฏตัวตามมาเมื่อนั้น
เพราะมันเป็นของคู่กัน
กิเลสอยู่ที่ไหน
ตัณหาก็จักอยู่ตรงนั้น

5.เราคงมิพักต้องเปรียบเทียบหรอกว่า
ระหว่าง "กิเลส" คือ ความรู้สึก
กับตัว "ตัณหา" คือ ความอยากนั้น
ตัวไหนน่ากลัวกว่ากัน

ขอท่านรู้แต่เพียงว่า
ทั้งสองตัวนี่แหละคือ "มารภายใน"
เพราะเมื่อใดที่จิตเกิดความอยากแล้ว
หากไม่มีสิ่งที่เรียกว่า "กฤตสติ" ค้ำจุน
จิตของท่านมันจะสั่งการให้สมองสั่งกาย
ให้ทำตามที่ "จิตอยาก" นั้นต้องการเสมอ

ดังนั้น
ตัวที่น่ากลัวก็คือ "มารภายใน"
อันหมายถึง "จิตอยาก-ไม่อยาก" นี่เอง

6.คนที่ตกเป็นทาสของความอยากนั้น
เมื่อถูกกระตุ้นหรือปลุกเร้า
ให้เกิดกิเลสแล้ว
ก็มักจะทำอะไรตามใจตนเอง
ไม่แคร์อารมณ์รู้สึกนึกคิดต้องการ
ของใครๆทั้งสิ้น

นึกอยากพูดอะไรก็พูด
ไม่อยากพูดก็ไม่พูด

นึกอยากทำอะไรก็ทำ
ไม่อยากทำก็ไม่ทำ เป็นต้น

นอกจากนั้น
ถ้าถูกขัดใจเมื่ออยากหรือไม่อยาก
จิตนั้นก็จะสั่นสะเทือนลงไป
ในทางต่ำยิ่งกว่าเดิมอีก
คือเกิด "โทสะจริต" จำพวก
โกรธ เกลียด เคียดแค้น ขุ่นเคือง เป็นต้น

อาการทางจิตที่เกิดขึ้นดังว่ามานี้
มันเกิดจากจิตไม่ใสใจไม่สวย
เพราะจิตขาดคุณสมบัติอันวิสุทธิ์
จึงยังมิอาจบรรลุมรรคผลสูงสุด
คือเข้าถึงสภาวะนิพพานได้

นอกจากนั้น...
เจ้ามารภายใน คือ อยากกับไม่อยากนี่แหละ
หากท่านไร้ "มหาสติ"
มันก็จะแอบออกไปสมคบกับ "มารภายนอก"
ซึ่งคราวหน้าเราจะสยายให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
จนยิ่งทำให้ท่าน "ตกบันไดนิพพาน" กัน
เหมือนเช่นทุกวันนี้นั่นเอง

ดังนั้น
คนที่ชีวิต "ติดอยากกับไม่อยาก"
อันเกิดจากมารภายในตนเอง
ก็คือคนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้
ที่มิอาจนำพาแก่นแท้ของตนกลับบ้าน

กลับคืนยังแดนสุญญตา
ที่ตนจากมาตั้งนานแล้วได้นั่นเอง
หมายรวมถึงผู้ใดกันบ้างล่ะเนี่ย?

เอเมน สาธุ
ป.วิสุทธิปัญญา
9-2-2016