วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559

อย่าใช้ ความรู้สึก รับรู้ สภาวะธรรม







เราจะกล่าวความจริงต่อท่านทั้งหลาย
ที่เป็นผู้ครองเรือนแล้วยังติดชินอยู่กับ
ปฏิบัติการเจริญสมาธิภาวนาว่า

เป็นการ "หลงผิด" อย่างยิ่ง
ถ้าหากท่านใช้วิธีนั่งหรือนอนหลับตา
แล้วหยิบฉวยเอา "ความรู้สึก"
มาเป็นเครื่องมือในการ "รับรู้" สภาวะธรรมใดๆ
ซึ่งบังเกิดขึ้นที่ในจิตของท่านในปัจจุบันขณะ

ที่เราชี้ว่าเป็นการ "หลงผิด" หรือ เข้าใจผิด
ก็เพราะเรามีความจริงที่จริงแท้
ซึ่งเป็นสัจธรรมในระดับโลกุตรธรรม
ที่จะกล่าวต่อท่านทั้งหลายไว้ดังนี้

1.ที่เราแย้งว่าเป็นการหลงผิดก็เพราะว่า
แม้สิ่งที่ท่าน "รู้สึกได้" นั้น
มันจะมิใช่การเห็นตัวตนรูปธรรม
หรือแลเห็นนิมิตก็ตาม

แต่ทว่า "ความรู้สึก" ของท่านที่เกิดขึ้นนั้น
ม้นยังเป็นอาการของจิตที่เกิดจากการปรุงแต่ง
มันยังมิใช่สิ่งพิสุทธิ์โปร่งใส
จึงเชื่อถือไม่ได้หรอกว่าสิ่งที่ท่านรู้สึกอยู่นั้น
มันเป็น "สภาวะธรรม" แท้จริง

2.ท่านจะเอา "ความรู้สึก" ของตนเอง
ในขณะนั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนาอยู่
มาเป็นเครื่องชี้วัดตัดสินสิ่งที่รับรู้ว่า
สิ่งนั้นๆเป็นสภาวะธรรมไม่ได้

เพราะความรู้สึก คือ เวทนา
ซึ่งเป็นกิเลสตัวแม่ที่เป็นหนึ่งในขันธ์ 5 นั้น
ท่านจะยอมให้มันดำรงอยู่
เป็นคุณสมบัติของจิตต่อไปอีกไม่ได้เด็ดขาด

เนื่องจากเวทนาหรือกิเลสนี่เอง
ที่มันจะชักพาจิตท่าน
ให้เข้าป่าเข้าพงหลงมายา
จนเกิดเป็นตัณหา เป็นสัญญา
เป็นสังขาร เป็นอารมณ์ และวิญญาณ
ตามลำดับกระบวนการของขันธ์ 5 นั่นแหละ

หน้าที่ของท่านก็คือจะต้อง "ดับ" มัน
มิใช่สั่นสะเทือนเพื่อที่จะใช้มัน

ท่านรู้หรือไม่ว่า
เพราะจิตเกิดเวทนาขึ้นมานี่แหละ
สภาวะสุญญตาของจิตจึงเกิดขึ้นไม่ได้
(โปรดย้อนไปอ่านพระโอวาทที่ผ่านมา
เพื่อทบทวนว่า "จิตสุญญตา" คือยังไง)

3.ท่านจงอย่าไปเชื่อว่า
ขณะปฏิบัติสมาธิภาวนาด้วยการปลีกวิเวก
คือ นั่งหลับตาแล้วภาวนาจิตอยู่คนเดียวนั้น
มันไม่มีอะไรที่จะใช้เพื่อรับรู้สภาวะธรรมได้
นอกเสียจากการใช้ "ความรู้สึก" เท่านั้น

แท้จริงแล้วเครื่องมือของท่าน
ที่จะใช้รับรู้สภาวะธรรมที่ในจิตนั้นมันมีอยู่
มันคือสิ่งที่เรียกกันว่า "จิตตปัญญา" ไงล่ะ
ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเรียกว่า
"ปัญญาญาณ" นั่นเอง

โดยท่านจะสามารถเข้าถึง "ปัญญาญาณ"
อันเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญ
ที่จะใช้แทน "ความรู้สึก"
เพื่อรับรู้สภาวะธรรมได้
ก็ด้วยการยกระดับความฉลาดทางจิตตปัญญา
ที่พวกท่านเรียกกันสั้นๆว่า "ญาณ"
ผ่านปฏิบัติการ "วิปัสสนากรรมฐาน" นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้เอง
การใช้ความรู้สึกรับรู้สภาวะธรรม
อันหมายถึงความจริงที่จริงแท้
ในระดับสากลจักรวาล
ที่เรียกว่าปรมัตถธรรมนั้น
จึงเป็นการหลงผิดอย่างยิ่ง

เอเมน สาธุ
ป.วิสุทธิปัญญา
5-1-2016

เข้าถึงสภาวะธรรม ด้วยวิธีธรรมชาติสมาธิ





การนั่งหลับตาเพื่อค้นหาความจริง
ของสรรพสิ่งใดๆแม้แต่ที่อยู่ในจิตใจตน

จักต้องใช้ความสามารถทางจิตตปัญญา
เพื่อการนึกเอาด้วยจิต
ร่วมกับการคิดด้วยสมองสองซีกนั้น
ค่อนข้างลำบากยากยิ่ง
เพราะท่านจะต้องใช้วิธีนึกเอาเองว่า
ท่านปรารถนาจะเรียนรู้สภาวะธรรมของสิ่งใด
ท่านก็ต้องหยิบยกเอาสิ่งนั้นมาพิจารณา

เปรียบได้ดั่งนักเรียน
ที่จะต้องลงมือเขียนหลักสูตรเอง
เพื่อเรียนรู้เอาเองนั่นแหละ
ทั้งๆที่ยังไม่รู้ว่าเรื่องที่ตนกำหนดไว้ว่าจะเรียน
ด้วยการหยิบเอามาขบคิดพิจารณานั้น
มันสมควรที่จะเรียนรู้แล้วหรือไม่
ที่เรียนรู้จนได้รู้แล้วนั้นมันใช่หรือเปล่า
เพราะต้องมโนนึกเอาเองโดยแท้

เราจึงมักกล่าวความจริงต่อท่านทั้งหลายว่า
จงอย่าเดินถ่างขาต่อไปเลย
เพราะว่ามันจะสร้างปัญหาให้ตัวเองมากกว่า

ถ้าท่านเลือกที่จะเป็นผู้ครองเรือน
ในบริบทของนักสู้เพื่อการรู้แจ้ง
โดยไม่เลือกใช้วิธีเข้าถึงสภาวะธรรม
ด้วยปฏิบัติการเท็คนิกสมาธิในแบบนักบวชแล้ว
ท่านก็ยังสามารถเข้าถึง
สภาวะธรรมของสรรพสิ่งได้
ด้วยวิธีธรรมชาติสมาธิ
อันเป็นวิธีที่ไม่ต้องปลีกวิเวก

ขอเพียงในชีวิตประจำวันท่านต้องใส่ใจ
ติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ตนเองให้จงได้
อีกทั้งเน้นการครองมหาสติ
และแสดงปณิธานแห่งนิพพานให้ชัดเจนเข้าไว้
ซึ่งคนแวดล้อมรอบตัวท่าน
จะเข้ามาช่วยกันสร้างปัญหาและทำตัวไม่น่ารัก
เพื่อให้ท่านเรียนรู้ที่จะใช้ความรักและปัญญา
พัฒนาตนเองให้ยอดยุทธยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

นี่หมายความว่า
ท่านมิพักต้องเขียนหลักสูตรเอง
แต่มีเพื่อนมนุษย์ช่วยกำหนดเรื่องราวให้ท่าน
ได้เข้าใจและเข้าถึงสภาวะธรรมนั้นๆ
โดยที่ท่านเรียนรู้ทุกสิ่งในโลกแห่งความเป็นจริง
ไม่ต้องนั่งมโนนึกหรือสร้างจินตภาพมายาเองเลย

สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ท่านเข้าถึง
สภาวะธรรมอันเป็นสากลของสรรพสิ่งใดๆได้
มีอยู่ 2 ประการที่สำคัญคือ

1.ท่านจะสามารถมองผ่านอัตตารูปลักษณ์
ที่เป็น "มายา" ของสรรพสิ่งนั้นๆ
เข้าไปให้ถึงแก่นแท้ของมัน
ได้หรือไม่ อย่างไร

2.ท่านจะสามารถมองเห็นหรือรับรู้
"คุณสมบัติ" แท้จริงของสรรพสิ่งนั้น
ได้หรือไม่ ได้ดีแค่ไหน และได้อย่างไร เป็นต้น

ดังนั้น
การที่ท่านจะเข้าถึงความจริงของสรรพสิ่งได้
ท่านจึงต้องมีความฉลาดทางปัญญา
เพื่อใช้ปัญญาของท่านมองเห็นความจริง
หรือเห็นสภาวะธรรมของสรรพสิ่งได้ถูกต้อง
ด้วยจิตตปัญญาของท่านเท่านั้น
มิใช่รู้เห็นด้วยอายตนะหรือรับรู้ด้วยความรู้สึก

เอเมน สาธุ
ป.วิสุทธิปัญญา
5-1-2016